ความเป็นมาของการตรวจสอบภายในภาคราชการ
การตรวจสอบภายในภาคราชการ เริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 โดยระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2505 ได้กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งข้าราชการ ในหน่วยงาน 1 คนหรือหลายคน เป็นผู้ตรวจสอบภายใน รับผิดชอบในการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินรวมทั้งการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่าย ของเจ้าของ งบประมาณนั้น ๆ และตรวจสอบงานด้านอื่น ตามที่หัวหน้าส่วนราชการมอบหมายเป็นการภายใน และรายงาน ผลการตรวจสอบโดยตรง ต่อหัวหน้าส่วนราชการ อย่างน้อยเดือนละครั้ง และต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ข้อกำหนดเกี่ยวกับงานตรวจสอบภายใน ได้ถูกนำไป กำหนดไว้ในระเบียบ การรับจ่าย การเก็บรักษา และการนำส่งเงินของส่วนราชการ พ.ศ. 2516 แทน โดยกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งข้าราชการซึ่งไม่ต่ำกว่าชั้นตรีอย่างน้อย 2 คน เป็นกรรมการตรวจสอบการเงินประจำเดือนทุกเดือน และมีการแก้ไข ปรับปรุงในปี พ.ศ. 2520 โดยเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายใน จากเดิมที่กำหนดให้ทำงาน ในลักษณะของคณะกรรมการการตรวจสอบการเงิน เป็นแต่งตั้ง ข้าราชการอย่างน้อย 1 คน เป็นผู้ตรวจสอบภายในของส่วนราชการนั้น หรือของส่วนราชการในส่วนภูมิภาคในจังหวัดนั้น แล้วแต่กรณี
พ.ศ. 2519 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้ส่วนราชการที่เป็นกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เทียบเท่า รวมถึงจังหวัดทุกจังหวัดมีตำแหน่ง อัตรากำลังเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในของส่วนราชการหรือของจังหวัดโดยเฉพาะ โดยให้ปฏิบัติงานขึ้นตรง ต่อหัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี และให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบในการฝึกอบรม
พ.ศ. 2531 – 2532 กระทรวงการคลังได้พิจารณาเห็นสมควรให้มีการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้ส่วนราชการมีการตรวจสอบภายในที่เป็นระบบ เพื่อสามารถเป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการตรวจสอบติดตามการปฏิบัติงานของส่วนราชการในความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับข้อกำหนดเกี่ยวกับงานตรวจสอบภายใน ในระเบียบการรับ จ่าย การเก็บรักษา และการนำส่งเงินของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 ยังไม่ครอบคลุมถึงขอบเขต หน้าที่ความรับผิดชอบที่แท้จริงของการตรวจสอบภายใน จึงได้ยกเลิกข้อกำหนด เกี่ยวกับงานตรวจสอบภายใน ในระเบียบดังกล่าว และนำมากำหนดเป็นระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการตรวจสอบภายในของส่วนราชการ พ.ศ. 2532 (ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2542)
ในปลายปี พ.ศ. 2541 ถึงต้นปี 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบใน หลักการตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประจำกระทรวงเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน ในภาพรวมของกระทรวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบภายในให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของผู้บริหารในการควบคุม ติดตาม การใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนงาน งาน / โครงการต่าง ๆ และให้ จัดตั้งกลุ่มงานตรวจสอบภายในระดับกระทรวง เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการและ ทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบภายใน ของกระทรวง โดยมุ่งเน้นการตรวจสอบ งานโครงการที่มีความสำคัญ หรือที่มีความเสี่ยงสูง หรือที่มีสัญญาณบอกเหตุว่า อาจจะมีความเสียหาย เกิดขึ้น โดยประสานแผนการตรวจสอบกับหน่วยตรวจสอบภายในระดับกรม เพื่อให้การตรวจสอบมีขอบเขตงานที่ กว้างขวาง และไม่ซ้ำซ้อนกัน
มาตรฐานการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในที่ใช้อ้างอิงในระดับสากล คือมาตรฐานการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายใน (The Professional Practice Standards for Internal Aditing)ของสถาบันผู้ตรวจสอบภายใน (The Institue of Internal Auditors : IIA) และปัจจุบัน IIA และIIA Research Foundation ของสหรัฐอเมริกา ได้ปรับปรุงและแก้ไขมาตรฐานการปฏิบัติงานตรวจสอบใหม่ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยปรับเปลี่ยนคำนิยามของการตรวจสอบภายในใหม่ ซึ่งเน้นเรื่องการเป็นหลักประกันที่เที่ยงธรรม และการเป็นที่ปรึกษาอิสระของผู้บริหาร
แนวคิดหลักการและเป้าหมายของการตรวจสอบภายใน
1. แนวคิด
1.1 การตรวจสอบภายในมีความจำเป็นสำหรับการบริหารองค์กรในปัจจุบัน โดยถือว่าเป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการบริหารงานทั้งในภาคเอกชนและภาคราชการ ซึ่งเดิมจะเน้นเฉพาะการตรวจสอบทางด้าน การเงิน การบัญชี สำหรับหน้าที่งาน 3 ลักษณะ คือ
- การตรวจสอบ
- การติดตาม
- การประเมินผล
1.2 ในปัจจุบันได้เน้นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประหยัด ในการปฏิบัติงานด้านต่างๆ จึงเพิ่มการตรวจสอบภายในด้าน
- การตรวจสอบการปฏิบัติงาน
- การตรวจสอบการบริหาร
2. หลักการการตรวจสอบภายในของส่วนราชการ จะยึดถือหลักการเพื่อให้ปฏิบัติงานตรวจสอบ ได้บรรลุตามแนวคิดข้างต้น 3 ประการ ดังต่อไปนี้
2.1 มีอำนาจที่จะเข้าตรวจสอบ คือการที่ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องได้รับมอบอำนาจเพียงพอที่จะเข้า
สังเกตหรือตรวจสอบในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตรวจสอบได้ทั้งหมด
2.2 เสรีภาพในการตรวจสอบ คือความเป็นอิสระของผู้ตรวจสอบภายในในการตรวจสอบทุกๆ ด้าน
2.3 ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องไม่มีอำนาจและความรับผิดชอบโดยตรงกับงานที่ทำการตรวจสอบ
3. เป้าหมายเพื่อให้งานตรวจสอบภายในเป็นไปตามแนวคิดและหลักการตามข้อ1 และ 2 ดังกล่าว จึงควรให้หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ตรวจสอบภายใน หน่วยรับตรวจ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าใจถึงระบบการตรวจสอบภายในของส่วนราชการ ดังนี้
3.1 โครงสร้างการจัดองค์กร
3.2 สายการบังคับบัญชา
3.3 ตำแหน่งและอัตรากำลัง
3.4 ขอบเขตการปฏิบัติงาน
3.5 หน้าที่ความรับผิดชอบ
3.6 ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
3.7 ผลงานของผู้ตรวจสอบ
โครงสร้างองค์กรงานตรวจสอบภายในภาคราชการ
ปัจจุบันโครงสร้างงานตรวจสอบภายในของส่วนราชการ ประกอบด้วย
1. หน่วยตรวจสอบภายในระดับกรม / จังหวัด
เป็นสายงานขึ้นตรงกับหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมในส่วนกลาง และผู้ว่าราชการจังหวัดในส่วนภูมิภาค โดยมีผู้ตรวจสอบภายในระดับกรมและผู้ตรวจสอบภายในจังหวัด ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการตรวจสอบติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานและการบริหารงานของส่วนราชการ รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานภายในของส่วนราชการ
2. กลุ่มงานตรวจสอบภายในระดับกระทรวง
เป็นสายงานขึ้นตรงกับปลัดกระทรวง และทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการตรวจสอบภาคราชการ โดยมีผู้ตรวจสอบภายในระดับกระทรวง มีหน้าที่ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน / โครงการที่มีความเสี่ยงสูงหรือที่มีความเชื่อมโยงระหว่างส่วนราชการในกระทรวง ตามที่ปลัดกระทรวงและ / หรือคณะกรรมการตรวจสอบฯ มอบหมาย
3. คณะกรรมการตรวจสอบภาคราชการ
แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่สอบทาน และกำกับดูแลระบบการตรวจสอบภายในในภาพรวมของกระทรวงให้มีประสิทธิภาพ และรายงานผลให้ปลัดกรทรวง หรือรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีทราบ ตามควรแก่กรณี

คลิกเพื่อดูรายละเอียด
กลุ่มตรวจสอบภายในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม บริหารราชการแผ่นดินภายใต้พระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เริ่มมีผู้ทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบภายใน ปฏิบัติงานในกลุ่มตรวจสอบภายใน ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2552 โดยกลุ่มตรวจสอบภายในเป็นหน่วยงานสนับสนุน มีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงกับอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การดำเนินงานด้านการตรวจสอบภายในเป็นไปตามฐานและระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด
ในระยะเริ่มแรกจนถึงปัจจุบันมีข้าราชการปฏิบัติงานจำนวน 1 คน
|