สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีการศึกษา 2566
ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
วันพุธ ที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น.
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีการศึกษา 2566
โดยวันนี้ มีผู้ทรงวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ จำนวน 6 คน ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ทั้งบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2566 รวมทั้งสิ้น 702 คน
โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความตอนหนึ่งว่า “ศิลปวัฒนธรรม เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ และสะท้อนความเป็นไทยที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของความเจริญอย่างเป็นอารยะ ซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างสมมาให้อนุชนรุ่นหลังได้ธำรงรักษา อนุรักษ์ และพัฒนาสืบไป ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ล้วนเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ชำนาญในศาสตร์ของตน และเข้าใจในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง จึงควรจะมีความภาคภูมิใจ และคิดสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างมุ่งมั่นและมีหลักการ เพราะการสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่าง ๆ ให้มีคุณค่าและความงามนั้น ผู้สร้างจะต้องมีคุณสมบัติทั้งความรู้ ความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่และความมุ่งมั่นพยายาม ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้งานสำเร็จได้อย่างมีคุณค่า มีคุณภาพ และเปี่ยมไปด้วยความงดงามทางศิลปะ จึงขอให้บัณฑิตทุกคน ตั้งมั่นที่จะประพฤติ ปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีของวัฒนธรรม สร้างคุณค่าจากการงานให้สะท้อนถึงตัวตนตามวิถีไทย และร่วมกันสร้างสรรค์ความสุขความเจริญให้แก่ชุมชนสังคม ประเทศชาติ ตามแนวทางของวัฒนธรรมอันงดงามที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน”
ปัจจุบัน สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม มีหน่วยงานในสังกัดจำนวน 19 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานอธิการบดี คณะศิลปนาฏดุริยางค์ คณะศิลปศึกษา คณะศิลปวิจิตร วิทยาลัยนาฏศิลป จำนวน 12 แห่ง และวิทยาลัยช่างศิลป จำนวน 3 แห่ง จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานวิชาชีพเฉพาะ ถึงระดับปริญญาเอก ด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ดนตรีคีตศิลป์และทัศนศิลป์ทั้งไทยและสากล รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำการสอน การแสดง การวิจัย และให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม ทำนุบำรุงและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ