เกี่ยวกับสถาบัน

ประวัติสถาบัน
2540
นาม "บัณฑิตพัฒนศิลป์"
เป็นนามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์มรดกศิลปวัฒนธรรมไทย โปรดเกล้าฯ พระราชทาน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งหมายถึงสถาบันผลิตบัณฑิตทางศิลปะแห่งความเจริญ เป็นการยกระดับการศึกษาด้านดุริยางคศิลป์และช่างศิลป์ เพื่อนำศิลปะมาพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เดิมเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกรมศิลปากร
2540
สถาปนาขึ้นตามพระราชบัญญัติ
กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการสถาปนาขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ.2541 โดยมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ทั้งไทยและสากล ในการดำเนินการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์นั้นได้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2541 โดยกรมศิลปากร ได้พยายามผลักดันเรื่องการยกระดับการศึกษาวิชาชีพพิเศษด้านนี้ขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2พฤศจิกายน พ.ศ.2541 มีการประกาศจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3พฤศจิกายน พ.ศ.2541เป็นต้นมา โดยให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ.2541
2542
เปิดดำเนินการสอน 3 คณะวิชา
อันเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมให้สูงขึ้นถึงระดับปริญญา โดยเปิดดำเนินการสอนครั้งแรกใน 3 คณะวิชา คือ คณะศิลปวิจิตร คณะศิลปนาฏดุริยางค์ และคณะศิลปศึกษา ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เป็นหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง 2 ปี) สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง (ปนส.) จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ทุกแห่ง และผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรศิลปกรรมวิชาชีพชั้นสูง
2547
เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี
(ศ.ปวส.)จากวิทยาลัยช่างศิลป์ทุกแห่งในปีการศึกษา 2547 ได้ขยายการผลิตบัณฑิต โดยเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี(4 ปี) ในคณะศิลปวิจิตร และคณะศิลปนาฏดุริยางค์ เปิดหลักสูตรปริญญาตรี (5 ปี) ในคณะศิลปศึกษา และเปิดห้องเรียนเครือข่ายคณะศิลปศึกษาในวิทยาลัยนาฏศิลป์
2548 - 2550
เปิดห้องเรียนเครือข่าย
ทุกแห่งในภูมิภาค ในปีการศึกษา 2548 คณะศิลปวิจิตรได้ขยายการผลิตบัณฑิต และเปิดห้องเรียนเครือข่ายในวิทยาลัยช่างศิลป์สุพรรณบุรี และปีการศึกษา 2554 เปิดห้องเรียนเครือข่ายเพิ่มขึ้นที่วิทยาลัยช่างศิลป์ และในปีการศึกษา 2550 คณะศิลปะนาฏดุริยางค์ ได้ขยายการผลิตบัณฑิตและห้องเรียนเครือข่าย ในวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ และวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด
ปัจจุบัน สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เป็นสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์พ.ศ.2550 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 124 ตอนที่ 32 วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ส่งผลให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคล สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานวิชาชีพเฉพาะ ถึงระดับปริญญาเอกมีอำนาจหน้าที่ตามที่ระบุในวัตถุประสงค์ของสถาบันมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550ที่ว่า “การศึกษาและส่งเสริมวิชาการตั้งแต่ระดับพื้นฐานวิชาชีพถึงวิชาชีพชั้นสูง ด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และทัศนศิลป์ทั้งไทยและสากล รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทำการสอนการแสดง การวิจัย และให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม ทำนุบำรุง และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนในท้องถิ่น”

ดังนั้น สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จึงมีภารกิจสำคัญในการจัดการเรียนการสอน ทั้งในหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ปริญญาตรี (5 ปี) และปริญญาตรี (4 ปี) ในคณะวิชา ในห้องเรียนเครือข่ายภูมิภาค และการจัดการศึกษาระดับพื้นฐาน วิชาชีพเฉพาะด้านและระดับต่ำกว่าปริญญาตรีในวิทยาลัยนาฏศิลป์ และวิทยาลัยช่างศิลป์รวม 15 แห่งด้วย โดยมีส่วนราชการที่จัดการศึกษาในสังกัด จำนวน 18 แห่ง ตามกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการใน สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2551 วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551 ดังนี้

คณะศิลปวิจิตร
คณะศิลปนาฏดุริยางค์
คณะศิลปศึกษา
วิทยาลัยช่างศิลป
วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช
วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี
วิทยาลัยนาฏศิลป
วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์
วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช
วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา
วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง
วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด
วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี
วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย
วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี
วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง

ต่อมา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ได้มีนโยบายขยายโอกาสให้แก่บัณฑิต จากสถาบันฯ และสถาบันอื่นที่จะเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญามหาบัณฑิต เฉพาะด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ และพัฒนาบุคลากร ของสถาบันให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านศิลปะเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาต่อไปพัฒนาการจัดการศึกษาแก่หน่วยงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้ดำเนินการโครงการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยและเริ่มจัดทำ หลักสูตรระดับปริญญาโทมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 ต่อมาในปีการศึกษา 2552 การจัดหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิตสาขานาฏศิลป์ไทย และหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาดุริยางคศิลป์ไทย ได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในการประชุม ครั้งที่ 7/2552 วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และได้รับคำรับรองจากคณะกรรมการการอุดมศึกษาว่าเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2548 ตามหนังสือที่ ศธ 0506(2)/2249 และในปีการศึกษา 2553 จึงได้เริ่มเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาโท 2สาขาวิชา คือ สาขานาฏศิลป์ไทย และสาขาดุริยางคศิลป์ไทย

สัญลักษณ์
"สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์" เป็นนามพระราชทานที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่สถาบัน ซึ่งหมายถึง สถาบันผลิตบัณฑิตทางศิลปะแห่งความเจริญ เป็นการยกระดับการศึกษาด้านดุริยางคศิลป์ และช่างศิลป์เพื่อนำศิลปะมาพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศไทย เครื่องหมายของสถาบันฯ เป็นรูปพระพิฆเณศวร์ประทับนั่งในลักษณะเฉียงเล็กน้อยในกรอบวงกลม ด้านบนมีลวดลายไทยยกสูง ด้านล่างกรอบเป็นแถบริบบิ้น ภายในมีชื่อ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
ความหมายตราประจำสถาบัน

ความหมายของตราประจำสถาบัน พระคเณศเป็นเทพเจ้าของอินเดีย นับถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะวิทยาการทั้งปวง ซึ่งหมายรวมถึงความเป็นเจ้าแห่งสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ความกล้าหาญ ตลอด จนเป็นผู้พิทักษ์ไว้ซึ่งความยุติธรรม นอกจากนี้ชาวฮินดูยังคงให้ความ สำคัญกับพระคเณศในฐานะเป็นเทพประจำความขัดข้องและเป็นผู้อำนวยความสำเร็จให้ แก่กิจการต่างๆ อีกด้วย ดังนั้นพระคเณศจึงได้นามเฉพาะว่า "วิฆเนศวร" หมาย ถึงผู้เป็นใหญ่ใน ความขัดข้องหรืออุปสรรค และ "สิทธิดา" หมายถึงผู้อำนวยความสำเร็จผล ด้วยเหตุที่พระคเณศมีคุณสมบัติและความสำคัญดังกล่าว ชาวฮินดูจึงคติเชื่อกันว่าเมื่อจะประกอบพิธีกรรมในลัทธิศาสนา หรือศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาการต้องกล่าวคำไหว้บูชาต่อพระคเณศก่อน เพื่อให้ปลอดภัยรอดพ้นจากความขัดข้องหรืออุปสรรคทั้งปวง ตลอดจนอำนวยพรให้เกิดความสำเร็จลุล่วงด้วยดีในกิจการต่างๆ

ลักษณะของพระคเณศ มีรูปกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง มีงาเดียว (บางรูปงาหักข้างขวาหรือซ้ายก็มี) เตี้ย พุงพลุ้ย หูยาน สีกายแดง (บางตำราว่าผิวเหลือง นุ่งห่มแดง ตามปกติมี ๔ กร) (บางตำราว่ามี ๖ หรือ ๘) ถืองาช้าง บ่วงบาศ งาหัก และขนมโมทก (ขนมต้ม) บางตำราว่าถืออาวุธ และวัตถุแตกต่างกัน เช่น ถือชาม ขนมโมทก หม้อน้ำ ดอกบัว ผลส้ม สังข์ จักร หลาว ธนู คฑา ขวาน ลูกประคำ งู ผลทับทิม หัวผักกาด เหล็กจาร และสมุดหนังสือ เป็นต้นความหมาย เครื่องหมาย และสีประจำ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

สีประจำสถาบัน
สีประจำคณะศิลปวิจิตร
สีประจำคณะศิลปศึกษา
สีประจำคณะศิลปนาฏดุริยางค์
อัตลักษณ์สถาบัน
อัตลักษณ์สถาบันสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
สืบสาน สร้างสรรค์ งานศิลป์
อัตลักษณ์ของบัณฑิตสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
มืออาชีพงานศิลป์
เอกลักษณ์สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
เป็นผู้นำด้านงานศิลป์
วิสัยทัศน์ และพันธกิจ

"เป็นสถาบันต้นแบบด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์ และทัศนศิลป์ ที่มีความเป็นเลิศด้านวิชาการ วิชาชีพ ในระดับชาติ และนานาชาติ"

1. จัดการศึกษาระดับพื้นฐานวิชาชีพถึงวิชาชีพชั้นสูงด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์และทัศนศิลป์ ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับระดับชาติและนานาชาติ
2. การสร้างคุณภาพผลงานวิจัย ผลงานสร้างสรรค์ ผลงานนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายและเผยแพร่ผลงานในระดับชาติ และระดับนานาชาติ
3. ให้บริการวิชาการ ด้านศิลปวัฒนธรรมแก่สถานศึกษา ชุมชน สังคม และท้องถิ่น
4. อนุรักษ์ สร้างสรรค์ เผยแพร่ และจัดการแสดงด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์และทัศนศิลป์ ในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อสร้างความตระหนัก รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และส่งเสริมความเป็นไทย
5. พัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามหลักธรรมาภิบาล

สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีความมุ่งมั่นดำเนินการตามพันธกิจให้บรรลุเป้าหมายสู่ความสำเร็จในปี
พ.ศ. 2565 - 2569 ดังนี้
1. หลักสูตรการศึกษาทุกระดับมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ
2. ผู้สอน มีทักษะในการสอน การจัดการเรียนรู้ การใช้ภาษาและเทคโนโลยีในการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม
3. นักเรียน นักศึกษามีสมรรถนะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
4. มีผลงานวิจัย ผลงานสร้างสรรค์ ผลงานนวัตกรรมที่มีคุณภาพได้รับการเผยแพร่ในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ
5. เป็นศูนย์กลางในการให้บริการวิชาการด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์ และทัศนศิลป์ ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ
6. มีความเป็นเลิศด้านการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอย่างเป็นมืออาชีพ
7. มีระบบบริหารจัดการที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนด้วยหลักธรรมาภิบาล

อำนาจและหน้าที่

อำนาจหน้าที่ขององค์กร (พระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

 

          สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เป็นสถานศึกษา มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาและส่งเสริมวิชาการตั้งแต่ระดับพื้นฐานวิชาชีพหรือวิชาชีพชั้นสูง ด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์ และทัศนศิลป์ ทั้งไทยและสากล รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทำการสอน ทำการแสดง ทำการวิจัย และให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนส่งเสริม สืบสาน สร้างสรรค์ ทะนุบำรุง และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนในท้องถิ่น ตามมาตรา 8 โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อาจจัดการศึกษาหรือดำเนินการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาขั้นสูงหรือสถาบันอื่นได้ และมีอำนาจให้ปริญญา อนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรชั้นหนึ่งชั้นใดแก่ผู้สำเร็จการศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาขั้นสูงหรือสถาบันอื่นได้ ตามมาตรา 11 และให้สถาบันมีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของสถาบัน ทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุและที่เป็นทรัพย์สินอื่น ตามมาตรา 12 วรรค วรรคเจ็ด

 

โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ดังนี้

  1. อำนาจสภาสถาบันมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของสถาบันและโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 17 ดังนี้

    (1) วางนโยบายของสถาบันเกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคมการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และสนับสนุนกิจการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในท้องถิ่นเกี่ยวกับงานด้านศิลปวัฒนธรรม

    (2) วางระเบียบ ออกข้อบังคับและประกาศของสถาบัน และอาจมอบให้ส่วนราชการใดในสถาบันเป็นผู้วางระเบียบ ออกข้อบังคับและประกาศสำหรับส่วนราชการนั้นเป็นเรื่อง ๆ ไปก็ได้

    (3) อนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญาและประกาศนียบัตร

    (4) พิจารณาการจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกส่วนราชการของสถาบันตามมาตรา ๙ รวมทั้งการแบ่งส่วนราชการของส่วนราชการดังกล่าว

    (5) อนุมัติรับสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นเข้าสมทบในสถาบันและการยกเลิกการสมทบ

    (6) พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด และการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

    (7) พิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง และถอดถอนนายกสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ อธิการบดี ศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์พิเศษ

    (8) แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ และหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ

    (9) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ของสถาบัน

    (10) วางระเบียบและออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงาน การเงิน การจัดหารายได้และผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถาบัน

    (11) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภาสถาบัน

    (12) พิจารณาและให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับกิจการของสถาบันตามที่อธิการบดีเสนอ และอาจมอบหมายให้อธิการบดีปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภาสถาบันได้

    (13) ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำในกิจการของสถาบันต่ออธิการบดี

    (14) ปฏิบัติหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของสถาบันที่มิได้ระบุให้เป็นหน้าที่ของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ

 

  1. อำนาจหน้าที่สภาวิชาการมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 20 ดังนี้

    (1) พิจารณาเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา หลักสูตร การเรียนการสอน การวิจัย การวัดผลการศึกษา และการประกันคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา กำหนด เพื่อเสนอต่อสภาสถาบัน

    (2) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการรวมและการยกเลิกสาขาวิชาต่อสภาสถาบัน

    (3) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเปิดสอนตามหลักสูตรของสถาบันต่อสภาสถาบัน

    (4) พิจารณาให้ความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาการของสถาบันต่อสภาสถาบัน

    (5) ส่งเสริมการวิจัยที่สอดคล้องกับภารกิจของสถาบันและความต้องการของชุมชน

    (6) แต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพื่อดำเนินการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภาวิชาการ

    (7) ปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิชาการตามที่สภาสถาบันมอบหมาย

 

              นอกจากนี้สภาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ยังมีอำนาจหน้าที่อื่นๆ ดังนี้

    2.1 มาตรา 48 สภาสถาบันอาจแต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมและมิได้เป็นคณาจารย์ประจำ สถาบันเป็นรองศาสตราจารย์พิเศษและผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษได้โดยคำแนะนำของอธิการบดี

    2.2 มาตรา 51 สถาบันมีอำนาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรชั้นหนึ่งชั้นใด ในสาขาวิชาที่มีการสอนในสถาบันหรือในสาขาวิชาที่มีการจัดการศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่น

    2.3 มาตรา 52 สภาสถาบันอาจออกข้อบังคับให้ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสองก็ได้

 

    2.4 มาตรา 53 สภาสถาบันอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีประกาศนียบัตรชั้นต่าง ๆ และอนุปริญญาได้ ดังนี้

         (1) ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งภายหลังที่ได้รับปริญญาโทหรือเทียบเท่าแล้ว

         (2) ประกาศนียบัตรบัณฑิต ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งภายหลังที่ได้รับปริญญาตรีแล้ว

         (3) อนุปริญญา ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งก่อนถึงขั้นได้รับปริญญาตรี

         (4) ประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะวิชา และตามหลักสูตรที่ต่ำกว่าอนุปริญญา

    2.5 มาตรา 54 สถาบันมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งสภาสถาบันเห็นว่าทรงคุณวุฒิและคุณธรรม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมสมควรแก่ปริญญานั้น ๆ แต่จะให้ปริญญาดังกล่าวแก่ผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในสถาบัน นายกสภาสถาบัน หรือกรรมการสภาสถาบันในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้นมิได้

ชั้น สาขาของปริญญากิตติมศักดิ์ และหลักเกณฑ์การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

    2.6 มาตรา 55 สถาบันอาจกำหนดให้มีครุยวิทยฐานะหรือเข็มวิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญาและประกาศนียบัตร และอาจกำหนดให้มีครุยประจำตำแหน่งนายกสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบันครุยประจำตำแหน่งผู้บริหาร และครุยประจำตำแหน่งคณาจารย์ของสถาบันก็ได้

การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งจะใช้ในโอกาสใดโดยมีเงื่อนไขอย่างใด

ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

    2.7 มาตรา 56 สภาสถาบันอาจกำหนดให้มีตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของสถาบันหรือส่วนราชการของสถาบันก็ได้ โดยทำเป็นข้อบังคับของสถาบันและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ตามวรรคหนึ่งเพื่อการค้า หรือการใช้สิ่งดังกล่าวที่มิใช่เพื่อประโยชน์ของสถาบันหรือสภาสถาบัน ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสถาบัน

สภาสถาบันอาจกำหนดให้มีเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายนักศึกษาก็ได้ โดยทำเป็นข้อบังคับของสถาบันและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

  1. อำนาจหน้าที่สภาคณาจารย์และบุคลากรมีหน้าที่ตามมาตรา 22 ดังนี้

    (1) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อสภาสถาบัน และอธิการบดีในกิจการต่าง ๆ ของสถาบัน

    (2) ส่งเสริมจริยธรรมและวัฒนธรรมการทำงานที่ดีของคณาจารย์ประจำสถาบัน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถาบันซึ่งปฏิบัติงานในสถาบัน

    (3) สร้างและส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณาจารย์ประจำสถาบัน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาของสถาบันซึ่งปฏิบัติงานในสถาบัน

    (4) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภาสถาบันหรืออธิการบดีมอบหมาย

 

  1. อำนาจหน้าที่อธิการบดีมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 26 ดังนี้

    (1) บริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการและของสถาบัน รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของสถาบัน

    (2) ควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการและของสถาบัน

    (3) จัดทำแผนพัฒนาสถาบันและปฏิบัติตามแผนงาน รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของสถาบัน

    (4) แต่งตั้งและถอดถอนผู้ช่วยอธิการบดี รองคณบดี รองผู้อำนวยการสำนัก รองผู้อำนวยการวิทยาลัย รองผู้อำนวยการศูนย์ รองหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ หัวหน้าภาควิชา หัวหน้ากอง รองหัวหน้ากอง หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา และอาจารย์พิเศษ

    (5) รักษาระเบียบวินัย จรรยาบรรณ และมารยาทแห่งวิชาชีพของคณาจารย์ประจำสถาบันข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาของสถาบัน

    (6) เสนอแผนดำเนินงานและงบประมาณประจำปี ตลอดจนรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของสถาบันต่อสภาสถาบัน

    (7) ส่งเสริม สนับสนุนกิจการนักศึกษา และปฏิบัติภารกิจร่วมกับสถาบันอื่น

    (8) เป็นผู้แทนของสถาบันในกิจการทั่วไป

    (9) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามระเบียบ ข้อบังคับและประกาศของสถาบัน หรือตามที่สภาสถาบัน

มอบหมาย

    ประกอบกับมาตรา 23 ให้อธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของสถาบัน และจะให้มีรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดี หรือจะมีทั้งรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีตามจำนวนที่สภาสถาบันกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมายก็ได้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา